"ซุ้มประตูบ่อเก๋ง" หรือเรียกันสั้น ๆ ว่า "บ่อเก๋ง" เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสงขลา ตั้งอยู่บริเวณตำบลเขาแดง เป็นหลักฐานแสดงถึงสาธารณูปการของเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาทางกรมศิลปากรประกาศขึ้นเป็น "โบราณสถานของชาติ" เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2542 "บ่อเก๋ง" คือ ปราการรักษาด้านหน้าของเมืองสงขลาเก่า ที่ตั้งอยู่ฝั่งแหลมสน สร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ประกอบด้วยเชิงเทิน ที่ตั้งปืนใหญ่ อาคารที่พักของผู้รักษาป้อม บ่อน้ำ และซุ้มประตู เมื่อมีการย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งบ่อยาง (ตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน) ได้มีการสร้างป้อมปากแม่น้ำแหลมทราย เพื่อคอยป้องกันเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ปราการบ่อเก๋งจึงถูกปล่อยร้างไป แต่ชาวบ้านละแวกนี้ ยังคงใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำจืดบริเวณบ่อเก๋งอยู่ระยะหนึ่ง ปัจจุบันภายในบริเวณ "บ่อเก๋ง" ยังมีซากโบราณสถานสิ่งหนึ่ง ที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นั่นคือ "ซุ้มประตู" ใครต่อใครเห็นย่อมสะดุดตา ในความคลาสสิกและสวยงามของมัน ซุ้มประตูดังกล่าวสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสันหลังคาโค้งงอน ซึ่งขัดกับลักษณะอาคารแบบไทยประเพณี แต่ลักษณะดังกล่าวปรากฏในกลุ่มอาคารทางตอนใต้ของจีนหลายแห่ง เช่น ในเขตเฉาซ่าน (บ้านเกิดชาวจีนแต้จิ๋ว) และเขตหมิ่นหนาน (บ้านเกิดของชาวจีนฮกเกี้ยน) อย่างไรก็ดี ลักษณะของปลายสันหลังคาที่ค่อนข้างเหลี่ยมหักมุม ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า ซุ้มประตูดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรมแถบหมิ่นหนาน ซึ่งนิยมสันหลังคาลักษณะนี้ โดยต่างจากงานสถาปัตยกรรมในเขตเฉาซ่าน ที่ปลายสันหลังคาเป็นเส้นโค้ง การปรากฏลักษณะสถาปัตยกรรมหมิ่นหนาน แสดงให้เห็นว่ามีชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเขาแดงด้วย โบราณสถานบ่อเก๋ง มีอายุราว 100 กว่าปี มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีวัฒนธรรมของเมืองสงขลา สะท้อนให้เห็นถึงอดีตของเมืองสงขลาได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน สะท้อนผ่านการสร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ และการสร้างท่าเทียบเรือในบริเวณนี้ ที่ทำให้พออนุมานได้ว่า สงขลาคือหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญต่อโลกแห่งหนึ่งก็ว่าได้